วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คุยกับนักปราชญ์ด้านความคิดสร้างสรรค์ 1 คน เหมือนอ่านหนังสือ 1,000 เล่ม

วันนี้เวลา 21.20 น. หลังจากได้เมล์ติดต่อเว็บไซต์ http://www.chiraacademy.com/ ประมาณ 10 นาที หลังจากนั้น...ความภาคภูมิใจสำหรับนักวิชาการ นักพัฒนาอย่างกระผม ก็คือ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็น เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ ได้โทรศัพท์มาจากกรุงเทพฯ เพื่อจุดประกาย และให้แง่คิดในเรื่องภาวะผู้นำเชิงสร้างสรรค์ :
- ขั้นต้นท่านได้กล่าวถึง ความคิดเชิงสร้างสรรค์ และได้ยกตัวอย่างการปลูกข้าวหอมมะลิ ถ้าปลูกธรรมดาก็ปลูกแล้วปล่อยตามธรรมชาติ ปีแล้วปีเล่าไม่มีการพัฒนาอะไร แต่ท่านได้ให้มุมมองในฐานะนักพัฒนาฯว่า ถ้าเราสามารถนำวิธีการ&กระบวนการปลูกข้าวหอมมะลิมาสร้างเป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ พินิจ พิเคราะห์ดูกระบวนการในแต่ละปี เรียนรู้และพัฒนากระบวนการผลิต ก็จะเกิดนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ (จากสภาพปัญหาเดิม...ซึ่งตรงกับศาสตร์ทางวิธีการแก้ปัญหาของชาวญี่ปุ่นที่ว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เพียงแต่ดูอันเดิม ทบทวน ครั้งแล้ว ครั้งเล่า หาปัญหาที่แท้จริง แล้วแก้ให้ตรงจุด..ก็เกิดปัญญาแล้ว)
- ในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่ง ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ได้บอกว่าเคยอบรมและพัฒนาภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหารและบุคลากรไปแล้ว 8-9 ครั้ง ท่านให้มุมมองว่า ต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการเชิงระบบคือ พัฒนาความสามารถ โดยการกระตุ้นหรือจุดประกายให้"คิด" คิดอย่างเป็นระบบ คิดอย่างสร้างสรรค์ และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ ส่วน"ผู้นำ" ท่านได้ให้มุมมองว่า การที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้ จะต้องทำให้ผู้ตามหรือคนรอบข้าง "ดีขึ้น" คำว่า ดีขึ้นเป็นการมองอย่างหลากหลายมิติ คือต้องฝึกหรือพัฒนาให้เขา คิดนอกกรอบ ให้ได้
ในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาควรจะจุดประกายหรือเริ่มตั้งแต่คณะผู้นำสูงสุด(เพราะจะเป็นคนชี้นำหรือนำพาองค์กรไปในทิศทางที่ตัวเองคาดหวัง) โดยพัฒนาหรือเพิ่มเติมโลกทัศน์ วิสัยทัศน์ ให้กว้างไกล เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แบ่งปันความรู้ และสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ที่สำคัญต้องมี"คุณภาพ" ด้วย มุมมองที่ผู้บริหารจะเป็นคนขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ เพราะถ้าผู้บริหารมีความคิดสร้างสรรค์ คิดกว้างไกล มองแบบท้องฟ้า มีอิสระในการคิดและมองแล้ว ลูกน้องก็จะมองกว้าง ๆ มีโลกทัศน์กว้าง และรวมพลังทำงานให้ถึงเป้าหมายได้ สรุปว่า ผู้บริหารและบุคลากร ต้องมีโลกทัศน์ มีวิสัยทัศน์ ที่กว้างไกล มีการเรียนรู้ตลอดเวลาและหลากหลายมิติ...
- ท่านได้บอกว่า "ความฝันของท่านคือ การทำให้คนไทยมีระบบคิดที่ดี สร้างสรรค์ มีความคิดเป็นของตนเอง นอกกรอบ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และมี เหตุและผล "
จากที่ได้สนทนา แลกเปลี่ยนความรู้กับท่านแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าได้เกิดประกายแห่งการพัฒนา และสร้างสรรค์เยาวชนให้เป็นคนสร้างสรรค์และเป็นกำลังหลักของประเทศชาติสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น